Image

Toy Story 3

2010-08-12
อนิเมชั่น
Lee Unkrich
ให้เสียงโดย ทอม แฮงค์, ทิม อัลเลน

เรื่องราวของแหล่าของเล่นที่นำทีมโดย วู๊ดดี้(ทอม แฮงค์), บัซ ไลท์เยียร์ (ทิม อัลเลน), และเพื่อนพ้องครบเซ็ท ไม่ว่าจะเป็น แฮม, เร็กซ์, สลิงกี้ด็อก, คุณและคุณนายโปเตโต้เฮด, เหล่าตุ๊กตาเอลี่ยน ฯลฯ


กับการผจญภัยครั้งใหม่เมื่อ แอนดี้ โตขึ้นและต้องย้ายไปเข้าเรียนที่อื่น ซึ่งไม่สามารถนำของเล่นทั้งหมดไปด้วยได้ ชะตากรรมของเหล่าของเล่นจึงมีอยู่ 2 อย่าง ไม่ถูกทิ้ง ก็ถูกบริจาคไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก พวกเขาจะผ่านมันไปได้อย่างไรพบกับการเอาตัวรอดและการผจญภัยสุดมันส์ของพวกเขาได้ในระบบ ดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ และ 35 มม.



Toy Story 3


*********************************************************************************************************


ผู้กำกับลี อังค์ริชและทีมงานพิกซาร์ ผลักดันขอบเขตสื่อภาพยนตร์ด้วยการถ่ายทำ การลำดับภาพและการให้แสง


Toy Story 3


ด้วยการถือกำเนิดของ “Toy Story” เมื่อ 15 ปีก่อน พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับภาพยนตร์อนิเมชัน ไม่เพียงแต่ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์อย่างน่าทึ่ง แต่ยังด้วยการนำเทคนิคการสร้างภาพยนตร์แบบดั้งเดิมมาใช้กับสื่อชนิดนี้ด้วย ด้วยจอห์น แลสซีเตอร์นั่งตำแหน่งผู้กำกับและลี อังค์ริช หน้าใหม่ในวงการอนิเมชันในตำแหน่งลำดับภาพ ภาพยนตร์ปี 1995 เรื่องนี้ก็ได้รับการยกย่องจากการเล่าเรื่องและความซับซ้อนด้านภาพยนตร์ที่น่าทึ่งของมัน ในผลงานเก้าเรื่องหลังจากนั้น พิกซาร์ก็ขยายขอบเขตขีดจำกัดของศิลปะรูปแบบนี้ออกไปเรื่อยๆ สำหรับ “Toy Story 3” อังค์ริชได้ใช้กุญแจไขรถ เพื่อขับพาภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสู่มิติใหม่ที่น่าตื่นเต้นในฐานะผู้กำกับ



“กับ ‘Toy Story’ เราได้บุกเบิกความคิดของการใช้โครงสร้างหนังแบบดั้งเดิมเพื่อสร้างหนังอนิเมชันขึ้นมาครับ” อังค์ริชกล่าว “และนั่นคือสิ่งที่ทุกคนทำในตอนนี้ ผมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบงานกล้อง และแน่นอนว่ารวมถึงการลำดับภาพของภาคแรกและภาคสองด้วย ดังนั้นมันก็เลยมีเรื่องของความต่อเนื่องที่ไปสู่ภาคสาม จากมุมมองด้านการถ่ายทำแล้ว เราเจอกับความท้าทายที่น่าสนใจใน ‘Toy Story 3


เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นอีกนับตั้งแต่ ‘Toy Story 2’ และทีมงานที่สตูดิโอก็เก่งขึ้นมา ตอนนี้ ถ้าคุณกลับไปดู ‘Toy Story’ คุณจะรู้สึกว่ามันค่อนข้างหยาบ เพราะมันเป็นหนัง CG เรื่องแรก และเราก็พัฒนาขึ้นมากในเรื่องของการใช้ความลึกและการให้แสงที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อช่วยในการเล่าเรื่องราวของเรา สำหรับ ‘Toy Story 3’ ผมไม่อยากให้หนังมีความรู้สึกเหมือนมันมาจากโลกการดีไซน์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เรายังอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือน ‘Toy Story’ อยู่ แต่เราก็อยากจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและฝีมือในแบบที่เราทำได้ในตอนนี้ ผมเชื่อว่าเราได้สร้างหนังที่เข้ากับสองภาคแรกได้อย่างพอเหมาะ แต่ก็ดูดีกว่าในหลายๆ ทาง”


“การให้แสงในเรื่องนี้สวยมาก และการให้เงาและพื้นผิวก็ซับซ้อนขึ้นเยอะด้วย” อังค์ริชกล่าวต่อ “สำหรับผมแล้ว การลำดับภาพเป็นเรื่องของการเล่าเรื่องราวให้ออกมาดีที่สุดเสมอ ในเรื่องของสไตล์แล้ว เราอยากจะทำให้หนังเรื่องนี้มีลักษณะเดียวกับ ‘Toy Story’ และ ‘Toy Story 2’ ให้มากที่สุด และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญก็คือการทำให้โลกใบนี้ให้ความรู้สึกที่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรากำลังบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ แต่จากมุมมองของของเล่นน่ะครับ”



ในฐานะผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง เจเรมี แลสกี้ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอังค์ริชในเรื่องการบล็อคและการเซ็ทช็อต “เราพยายามจะกำหนดกล้องของเราตามสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยในการดูหนังครับ” แลสกี้กล่าว “นี่ไม่ใช่วิดีโอเกม แต่เป็นเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ก็จะต้องให้ความรู้สึกที่น่าเชื่อ คุณจะต้องรู้สึกเหมือนกับว่าคุณอยู่ในโลกใบนี้ และทุกอย่างเมคเซนส์ คุณอยากจะโฟกัสไปที่เรื่องราว ไม่ใช่สิ่งที่กล้องกำลังทำ คุณอยากจะอินไปกับตัวละครและความรู้สึกของพวกเขาครับ”


“กล้องของเราเคลื่อนไหวในลักษณะที่งดงามและสมจริงมากขึ้น เราก็เลยสามารถใส่ลูกเล่นเข้าไปในตอนที่เรานึกถึงซีนบางซีนได้” แลสกี้กล่าวต่อ “เราเชี่ยวชาญช็อตแฮนด์เฮลด์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และมิติของสิ่งต่างๆ ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เราได้ใช้มันมากกว่าในสองภาคแรกก็จริง แต่เราก็ยั้งๆ มันไว้บ้างเพื่อทำให้มันอยู่ในโลกเดียวกับภาคก่อนหน้านี้ครับ”



**********************************************************************************************************


การใช้การเล่าเรื่อง การจัดฉากและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ


Toy Story 3


Toy Story 3” ได้ยกระดับมาตรฐานสำหรับการสร้างและจัดฉายภาพยนตร์ 3D และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการเพิ่มเติมความลึกและมิติเข้าไปในเรื่อง สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีมงานพิกซาร์ได้ขัดเกลาและบุกเบิกความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี 3D ล่าสุด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วยภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผู้กำกับลี อังค์ริชกล่าวว่า แม้ว่า 3D จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ให้มีอรรถรสขึ้นแต่พิกซาร์ก็มักจะสอดประสานเอามิติเข้าไปในภาพยนตร์ของพวกเขาอยู่แล้ว


“เรามักจะใช้ 3D เป็นหน้าต่างไปสู่โลก เพื่อที่ผู้ชมจะสามารถสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้แบบมีมิติ” อังค์ริชบอก “เราได้จำลองและเรนเดอร์ ‘Toy Story’ และ ‘Toy Story 2’ ใหม่เป็น 3D และแม้ว่าทั้งสองเรื่องจะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็น 3D แต่มันก็ให้ความรู้สึกแบบนั้น ซึ่งเรื่องนั้นก็เป็นเพราะเราได้จัดองค์ประกอบความลึกภายในภาพ 2D ของเราอยู่ก่อนแล้ว สำหรับ ‘Toy Story 3’ เป้าหมายของผมคือการบอกเล่าเรื่องราวที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และเซ็ทแอ็กชันให้โลดแล่นเคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย”


หนึ่งในความท้าทายชิ้นใหญ่ที่สุดของเรื่องคือการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกคอมพิวเตอร์ อนิเมชันตลอดกว่า 15 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเป็นเวลาที่ “Toy Story” เข้าฉาย) พร้อมๆ กับรักษาลุคและเสน่ห์ของภาพยนตร์ภาคแรกเอาไว้ ผู้ออกแบบงานสร้าง บ็อบ พอลลีย์อธิบายว่า “ตัวละครทุกตัวจะต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ เทคโนโลยีนั้นเก่ามากจนเราไม่สามารถขุดมันมาใช้ในหนังเรื่องนี้ได้ การสร้างตัวละครเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ต้องอาศัยความอุตสาหะมากทีเดียว เราได้แยกย่อยหนังสองภาคแรกออกเพื่อหาแก่นแท้ของ ‘Toy Story’ มันมีภาษาด้านดีไซน์และความเรียบง่ายแบบละเอียดอ่อนที่เราไม่อยากจะเสียมันไปครับ”


อังค์ริชกล่าวเสริมว่า “เราเจอความท้าทายน่าสนใจใน ‘Toy Story 3’ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นมาเยอะทีเดียวนับตั้งแต่ ‘Toy Story 2’ นอกเหนือจากนั้น ระดับความสามารถของทีมงานที่สตูดิโอก็เพิ่มขึ้นมากด้วย ตอนนี้ หนังที่เราสร้างมีภาพที่สวยสดงดงามจริงๆ ผมไม่อยากให้ ‘Toy Story 3’ ให้ความรู้สึกว่ามันเป็นโลกที่ถูกดีไซน์มาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันยังคงเป็น ‘Toy Story’ อยู่ก็จริง แต่ผมก็อยากจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและฝีมือที่เรามีอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่าเราได้สร้างหนังที่จะเข้ากันได้ดีกับสองภาคแรก แต่ก็ดูดีกว่าเยอะในหลายๆ ทางขึ้นมาครับ”



อย่างที่จอห์น แลสซีเตอร์อธิบายว่า “ตั้งแต่เริ่มต้น ผมรู้ว่าโลกในคอมพิวเตอร์เป็นสามมิติจริงๆ และมันก็ดูเหมือนสิ่งที่ตัววอลท์ ดิสนีย์เองน่าจะชอบ เพราะเขามักจะไขว่คว้าที่จะใส่มิติลงไปในอนิเมชันของเขามากขึ้นอยู่เสมอ และตอนนี้ด้วยเทคโนโลยี 3D และความก้าวหน้าล่าสุดในด้านการฉายหนัง เราก็สามารถมอบประสบการณ์ที่มหัศจรรย์ให้กับผู้ชมได้ มันเหมือนกับว่าเราทำหนัง 3D มาโดยตลอด แต่ผู้ชมมองไม่เห็นมันจนกระทั่งบัดนี้ มันเหมือนกับการได้ดูหนังโดยปิดตาข้างหนึ่งไว้ เมื่อปีที่แล้ว เราได้แนะนำเวอร์ชัน 3D ของ ‘Toy Story’ และ ‘Toy Story 2’ และมันก็เหมือนกับเราสร้างหนังสองเรื่องนั้นในรูปแบบ 3D เลย การจัดวางองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ความรู้และประสบการณ์ในการสร้างหนังไลฟ์แอ็กชันของลีทำให้ ‘Toy Story 3’ เป็นประสบการณ์ 3D ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยล่ะครับ”


อังค์ริชเปรียบเทียบการดู “Toy Story 3” ในรูปแบบ 3D กับประสบการณ์ที่ผู้ชมได้มองผ่านช่องกล้องดูฟิล์มสไลด์ว่า “มันเป็นวิธีที่มองลอดหน้าต่างหรือเป็นทางเข้าไปในโลกใบนี้และมองเห็นทุกอย่างเป็นมิติ” เขากล่าว “3D เป็นเหมือนไอซิ่งบนเค้ก และมันก็ทำให้หนังเรื่องนี้ดูเจ๋งขึ้นเยอะเลยครับ”


Toy Story 3


สิ่งหนึ่งที่ทำให้การได้ดู “Toy Story 3” ใน 3D เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าพึงพอใจขนาดนี้คือความจริงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในสเกลของของเล่น ไม่ใช่สเกลของมนุษย์ “เราอยู่ในโลกที่วัตถุของมนุษย์ เช่นโต๊ะ เก้าอี้ และของเล่นจะใหญ่เกินจริงเยอะ” อังค์ริชกล่าว “3D ได้ช่วยตอกย้ำภาพมายาของการถูกนำตัวเข้าสู่โลกที่ซ่อนเร้นของของเล่นน่ะครับ”



ผู้ที่ทำการดูแลมุมมมองเทคนิค 3D คือบ็อบ ไวท์ฮิล ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเตอริโอสโคปิค “ในงานของเราใน ‘Toy Story’ สองภาคแรก เราได้พบภาษาภาพ 3D จริงๆ ครับ” ไวท์ฮิลกล่าว “เราได้เรียนรู้ว่า 3D เป็นเรื่องของการแยกกล้องระหว่างตาซ้ายและตาขวา และด้วยความที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกของเล่น จริงๆ แล้ว การแบ่งแยกระหว่างตาทั้งสองข้างค่อนข้างจะเล็กจริงๆ และเพราะเราอยากจะมองเห็นโลกใบนี้ผ่านสเกลของเล่น ผ่านสเกลของวู้ดดี้ เราก็เลยเรียนรู้ที่จะกำหนดระยะห่างระหว่างกล้องตาซ้ายและกล้องทางขวา โดยอ้างอิงจากขนาดของวู้ดดี้ แล้วพอเราเดินทางมาถึง ‘Toy Story 3’ มันก็เลยเป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะสร้างความรู้สึกเรื่องสเกลนั้นขึ้นมาอีก ยกตัวอย่างเช่น ใน ‘Up’ ค่าเริ่มต้นสำหรับการแยกระยะกล้องจะอยู่ที่ 2.25 นิ้ว ในขณะที่ใน ‘Toy Story’ ระยะห่างจะอยู่ที่ 1/3 นิ้ว มันสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนในการเข้าไปในมุมมองของของเล่นและให้ความรู้สึกด้านสเกลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น”


“ในฐานะสตูดิโอ เรายังคงโฟกัสไปที่การบอกเล่าเรื่องราวที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อยู่ครับ” ไวท์ฮิลกล่าวต่อ “ลี [อังค์ริช] และทีมงานของเขาทำให้เราดูเหมือนอัจฉริยะด้าน 3D เพราะภาพออกมาสวยเหลือเกิน ภาพ 3D พวกนั้นให้ความรู้สึกสมจริงและเป็นธรรมชาติมากๆ ในหลายๆ แง่มุม มันเหมือนเวทีละครที่คุณมองเข้าไปในโลกใบนี้ ใน ‘Toy Story 3’ กลุ่ม 3D ได้เรียนรู้ที่จะผลักดันสิ่งต่างๆ มากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่มากจนถึงขั้นที่ผู้ชมจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน พวกเขาจะได้สัมผัสกับมิติที่มากขึ้นและความลึกที่มากขึ้น แต่มันถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่สวยงามจนมันให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและเรียบง่ายมากๆ ตอนที่ผมได้ดูหนังเรื่องใน 3D ผมรู้สึกเหมือนผมอินมากขึ้น มันน่าติดตามและสมจริงยิ่งขึ้น”


ไวท์ฮิลยืนยันว่าหนึ่งในสิ่งที่เขาชอบมากที่สุดใน “Toy Story 3” คือการให้แสง “มันสวยครับ” เขากล่าว “แล้วการกระจายแสงตามพื้นผิวและในอาการในแต่ละช็อตจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกด้านสเกลได้มากขึ้น หลายๆ ช็อตเป็นงานกล้องที่วางตำแหน่งได้ดีเหลือเกิน ทั้งในเรื่องของแสงและการบล็อค จนคุณจะรู้สึกเหมือนว่าตัวคุณได้เคลื่อนไหวอย่างพลิ้วไหวอยู่ในโลกใบนี้จริงๆ มันเกือบเหมือนการเต้นรำที่คุณจะมีทั้งกล้องเลย์เอาท์ มีอนิเมชันเยี่ยมๆ มีการลำดับภาพเยี่ยมๆ และแสงสวยๆ แบบนี้ และองค์ประกอบทั้งสี่อย่างก็ผสมผสานรวมกันอยู่ในการเคลื่อนไหวกล้องและแอ็กชันที่งดงามนั้น เมื่อเป็น 3D แล้ว มันให้ความรู้สึกที่ชัดเจน เป็นมิติและสมจริงเหลือเกินครับ”


ไวท์ฮิลและทีมงานของเขาได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอังค์ริชและเจเรมี แลสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้องของเรื่อง รวมทั้งแผนกอื่นๆ เพื่อคิดหาวิธีว่า 3D จะช่วยเล่าเรื่องได้ดีที่สุดได้อย่างไร พวกเขาได้สร้างกราฟแท่งสเกลศูนย์ถึงสิบขึ้นมา เพื่อบ่งบอกว่าจะต้องเพิ่มความลึกเข้าไปในแต่ละซีนมากแค่ไหน ในกรณีของฉากหลบหนีทางอากาศที่เสี่ยงตายจากสถานรับเลี้ยงเด็กของวู้ดดี้ ไวท์ฮิลก็ให้ทีมผู้สร้างเพิ่มเฟรมเข้าไปในช็อตมากขึ้นเพราะมันเป็นประสบการณ์ 3D ที่คุ้มค่า ซีนอย่างเช่นซีเควนซ์เปิดเรื่องที่เป็นฉากเวสเทิร์นในจินตนาการใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์ 3D อย่างสูงสุด และมีสเกลอยู่ที่ระดับ 8 ในกราฟ สำหรับฉากสุดท้ายสุดเจ๋งของเรื่อง ทีมผู้สร้างได้เร่งระดับ 3D เข้าไปเต็มที่เพื่อเสริมสร้างความตื่นเต้น “ผมก็แค่หวังว่าในตอนที่ผู้ชมเดินออกจากโรงหนัง” ไวท์ฮิลสรุป “พวกเขาจะมีความคิดว่า ‘ว้าว มันเป็นประสบการณ์การดูหนังที่มหัศจรรย์จริงๆ เราได้หัวเราะ ร้องไห้ กลัวและประทับใจ’ และบางที พอพวกเขาเดินถึงรถ พวกเขาจะคิดว่า ‘แล้ว 3D นั่นอีกล่ะ!’ น่ะครับ”




แท็ก: , , , , ,